ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้อธิบายว่า คนเราทุกคนไม่อาจหลีกหนีความกังวลและความเครียดต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการเป็นไปทางกาย ความคับข้องใจ (Frustrations) ความขัดแย้ง (Conflict) สิ่งสะเทือนขวัญ (Treats) จึงพยายามที่จะหาวิธีผ่อนคลายจากสภาวะนี้ ด้วยการใช้ “กลไกป้องกันจิตใจ” หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นกลไกในระดับจิตใต้สำนึก เพื่อเป็นการปฏิเสธ หรือปิดบังอำพรางความเป็นจริงที่เราไม่อาจยอมรับมันได้โดยง่าย
สำหรับเอ็นเนียแกรมเอง เกอดจีฟ ก็ได้อธิบายถึงภาวะที่คนซ่อนลักษณะที่ไม่ดีของตนไว้ในจิตใจ ซึ่งเขาเรียกมันว่า “กันชน” (Psychological Buffer) เช่นกัน และในเวลาต่อมา ก็พบว่าสไตล์ของคนทั้ง 9 เบอร์ ก็มีความสัมพันธ์ การใช้กลไกป้องกันตัวเองดังนี้
คนเบอร์ 1 – การแสดงออกในทางตรงกันข้าม (Reaction Formation)
เป็นกลไกป้องกันตัวที่ที่เกิดขึ้นเพื่อพยายามลดหรือกำจัดความกังวลที่เกิดจากความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมส่วนตัวที่ตนเห็นว่ารับไม่ได้ โดยแสดงออกในทางตรงกันข้ามกับสิ่งนั้น คนเบอร์หนึ่งใช้ธรรมเนียมปฏิบัติ ความคาดหวังตามบทบาทและศีลธรรมเป็นสิ่งกำหนดว่าอะไรยอมรับได้ อะไรยอมรับไม่ได้ กลไกแบบนี้จึงช่วยให้เขารับมือกับสิ่งที่เขาไม่อาจยอมรับได่ว่าเกิดขึ้นในตัวเอง
ตัวอย่าง
เบอร์หนึ่งผู้หนึ่งโกรธหัวหน้าอย่างมากที่ไม่อธิบายคำสั่งให้ชัดเจน และไม่ให้ฟีดแบคที่เป็นรูปธรรม แต่เขาก็พูดคุยกับหัวหน้าด้วยความสุภาพอ่อนโยนและแสดงความเกรงใจ ทั้งเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น หรือคุยกันแบบส่วนตัว และมักแสดงออกว่าชื่นชมผู้จัดการอยู่บ่อยๆ ถ้ามองจากสายตาภายนอก ทั้งสองคนนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หรืออาจกระทั่งเป็นเพื่อนสนิทกันก็ว่าได้
คนเบอร์ 2 – การเก็บกด (Repression)
เป็นกลไกที่ใช้เพื่อ ปิดบัง เรื่องต่างๆ ที่ตนเองยากที่จะยอมรับได้ เช่น ความรู้สึก ความปรารถนา ความหวัง ความเกลียดชัง ความกลัวและความต้องการ แต่สิ่งที่ถูกเก็บกดไว้ ไม่ได้หายไป แต่กลับส่งผลกับตัวเขาอยู่เสมอ เช่น ความกังวล ต้องการกำลังใจ แต่ก็ไม่รู้ตัว ดังนั้น แทนที่จะค้นหาว่า ตัวเองกังวลเรื่องอะไร หรือพยายามมองหากำลังใจ เขากลับหันไปให้กำลังในคนอื่นที่กำลังโศกเศร้าแทน
ตัวอย่าง
คนเบอร์สองผู้หนึ่งทุ่มเททำงานเกินตัวให้กับทีม กลับบ้านดึกทุกคืนมาเป็นเดือนแล้ว ในใจกังวลว่า โปรเจ็คจะไปรอดหรือไม่ เพื่อนร่วมทีมทำงานหนักไปหรือเปล่า แม้จะเห็นได้ชัดว่า เขาเองก็เหนื่อยล้า และน่าจะหงุดหงิดและโมโหที่ตัวเองต้องทำงานหนักมากและเป็นตัวหลักให้ทุกคนร่วมมือกันทำงาน เพื่อไม่ให้โปรเจ็คล้มเหลว แต่เขาก็ไม่ได้ปริปากพูดอะไรเลย แต่กลับเป็นกังวลว่าสมาชิกในทีมที่ทำงานหนักเกินไป
คนเบอร์ 3 – การยึดถือเป็นตัวตน (Identification)
การยืดถือ (สิ่งหนึ่งสิ่งใด) เป็นตัวตน คือกลไกปกป้องตัวตัวแบบหนึ่งที่นำเอาลักษณะนิสัยและคุณสมบัติของคนอื่นมาเป็นบุคลิกภาพ หรือความรู้สึกถึงความมีตัวตนของตัวเอง การยืดถือเป็นตัวตนเป็นวิธีเพิ่มพูนความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง (self-esteem) ด้วยการเป็นพวกเดียวหรือจินตนาการว่าเป็นพวกเดียวกันกับบุคคลที่ตนชื่นชม แล้วเลียนแบบลักษณะนิสัยคนนั้น ปกติแล้ว คนเบอร์สามจะไม่รู้ตัวว่า กำลังเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่น หรือทำตามไอเดียของตนที่ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่เขาจะแยกตัวตนที่แท้จริงออกมาจากภาพลักษณ์ที่เขากำลังเลียนแบบนั้น บุคคลที่คนเบอร์นี้ยึดถือเป็นตัวตนของตัวเองมากที่สุดคือ คนในบริบททางสังคมที่เขารู้สึกชื่นชมอย่างมาก นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ที่เขามักยึดถือเป็นตัวตนนั้นก็มักปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่เขาอยู่
ตัวอย่าง
คนเบอร์สามผู้หนึ่งกังวลที่ต้องนำเสนองานในการประชุมสำคัญ แทนที่จะเปิดเผยความรู้สึกนี้ให้ใครรู้ เขากลับแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตนเอง จนไม่มีใครเห็นว่าเขากังวลเลย คนอื่นๆ อาจเชื่อโดยไม่สงสัยแม้แต่น้อยว่า เขามั่นอกมั่นใจ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้นเลย ในสถานการณ์นี้ เขานึกภาพของคนที่นำเสนองานได้อย่างประสบความสำเร็จว่าเป็นอย่างไร หรือทำแบบไหน แล้วเขาก็แค่แสดงบทบาทตามนั้น
คนเบอร์ 4 – การรับมาไว้ในตัว (Introjection)
เป็นกลไกป้องกันตัวที่มีลักษณะขัดกับความรู้สึกของเรา คือ แทนที่จะปฏิเสธคำตำหนิหรือความรู้สึกทางลบซึ่งทำให้เราเสียใจหรือกังวล เรากลับนำสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกของตัวตนเต็มๆ ฟริตส์ เพิรลส์ (Fritz Perls) ผู้คิดค้น Gestalt therapy เปรียบเทียบกลไกนี้ว่า เหมือนกับกลืนกินเรื่องราวทุกอย่าง โดยไม่แยกแยะว่า สิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริง คนเบอร์สี่ซึมซับเรื่องราวทางลบเข้าไว้ในตัว และปฏิเสธเรื่องดีๆ ของตัวเองที่ได้ยินมา ทั้งนี้เพื่อจะรับมือกับเรื่องที่จะทำให้เสียใจและลดความรุนแรงของเรื่องคุกคามจิตใจจากภายนอก เขาอยากจัดการกับบาดแผลที่ทำตัวเอง มากกว่าต้องคอยรับมือกับคำตำหนิติว่า หรือการถูกปฏิเสธจากผู้อื่น
ตัวอย่าง
คนเบอร์สี่ไปงานสังคมแห่งหนึ่งแล้วเจอคนที่เขารู้จักชอบพอกัน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ แทนที่เขาจะรู้สึกเฉยๆ หรือสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เขากลับคิดไปว่าคนนั้นไม่ชอบหน้าเขา แล้วก็กลับมานั่งทุกข์ใจอีกหลายวัน
คนเบอร์ 5 – การแยกใจ (Isolation)
การแยกใจเกิดขึ้นในตัวคนเบอร์ห้าเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกถูกครอบงำและไม่ให้รู้สึกไร้สาระในชีวิต คนเบอร์ห้าแยกใจโดยหนีเข้าไปอยู่กับความคิดของตัวเอง ตัดความรู้สึกต่างๆ ทิ้งไป และจัดแบ่งแยกส่วน ซึ่งหมายถึงการแยกชีวิตของตัวเองออกเป็นส่วนๆ ทั้งจากชีวิตโดยรวม หรือจากส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น แยกความคิดจากความรู้สึก หรือแยกความรู้สึกออกจากการกระทำ เช่นเดียวกับแยกชีวิตส่วนตัวกับงานออกจากกัน คนบุคลิกนี้ยังอาจแยกตัวออกจากผู้อื่นและแบ่งแยกกลุ่มคนที่เขารู้จักแบบที่เพื่อนแต่ละกลุ่มไม่เคยพบกันเลย ที่จริงแล้ว บางคนถึงกับทำตัวลึกลับ
ตัวอย่าง
มีเพื่อนคนหนึ่งมาหาคนเบอร์ห้า เพื่อพูดคุยถึงปัญหาสำคัญระหว่างกันที่กระทบต่อความรู้สึกอย่างมาก แต่ในการสนทนานั้น ต้องอิงกับเรื่องความรู้สึกด้วย คนเบอร์ห้าคนนั้นกลับพูดว่าเขา “คิด” เห็นอย่างไรต่อเรื่องนั้น ไม่ใช่แค่เพียง ไม่รู้ถึงความรู้สึกใดๆ ของตัวเอง เขายังไม่เข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย พูดอีกอย่างคือ เธอไม่ใช่แค่แยกตัวเองออกจากคู่สนทนาอย่างเด็ดขาด แต่ที่สำคัญกว่าคือ เธอแยกใจเธอออกจากตัวเธอเองอย่างสั้นเชิงด้วย
คนเบอร์ 6– โปรเจคชั่น (Projection)
โปรเจคชั่น คือกลไกป้องกัน ซึ่งคนเราใช้ปฏิเสธ อารมณ์ ความคิด แรงจูงใจ ลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมของตัวเองซึ่งยากที่จะยอมรับ แล้วโยนออกไปให้ผู้อื่น คือ คิดว่าคนอื่นเป็นแบบนั้นแบบนี้ สิ่งๆ นั้นอาจ ดี ไม่ดี หรือกลางๆ ก็ได้ แค่เพราะรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับ หรือไม่กล้ามองว่าตัวเองเป็นแบบนั้น คนเบอร์หกใช้กลไกนี้โดยไม่รู้ตัว จึงอาจคิดไปว่า คนอื่นเป็นเช่นนั้นจริงๆ ถึงแม้ว่าลึกๆ เขาก็ไม่มั่นใจนัก กลไกนี้ จึงมีเพื่อให้เขารู้สึกมั่นใจขึ้นบ้าง จะได้คลายความกังวลที่เกิดจากความสับสน ความไม่แน่นอน หรือสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตราย แต่สุดท้ายการโปรเจคชั่นนี้ (โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ดี) กลับส่งผลให้เขากังวลหนักยิ่งขึ้น และทำให้เขาก็อยู่ในโลกลวงตาที่ตัวเองสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ตัวอย่าง
คนเบอร์หกผู้หนึ่งรู้สึกหวั่นเกรงเพื่อนร่วมงาน โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เขาเชื่อว่า คนๆนั้นอยากแข่งขันกับเขาเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง และกำลังวางแผนร้ายเพื่อกำจัดเขา เขาจึงเริ่มวางแผนและคิดกลยุทธ์ที่จะจัดการเพื่อนร่วมงานคนนั้น โดยให้เหตุผลการกระทำจากความเชื่อนี้ว่า เขาจำเป็นต้องป้องกันตัวเอง
คนเบอร์ 7 – หาเหตุผลแก้ต่าง (Rationalization)
คือกลไกป้องกันตนในแบบที่เราหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น ความคิด ความรู้สึกหรือพฤติกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงหรือปกปิดแรงจูงใจหรือเจตนาที่แท้จริง หรือผลที่เกิดจากพฤติกรรมของตัวเอง คนเบอร์เจ็ดหาเหตุผลมาอธิบายด้วยการปรับมุมมองให้เป็นบวก หาเหตุผลมาสนับสนุนพฤติกรรมของตัวเองโดยใช้ “คำที่ฟังดูดี” เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกด้านลบต่างๆ เช่น ความเจ็บปวดเสียใจ ความไม่สบายใจ ความเศร้า ความรู้สึกผิด ความกังวล และยังใช้เพื่อปัดความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
ตัวอย่าง
เวลาที่คนเบอร์เจ็ดได้ฟีดแบ็คด้านลบ เขาจะคิดถ้อยคำอธิบายว่า สิ่งที่เขาทำนั้นมีประโยชน์จริงๆ ต่อ เพื่อนร่วมงาน ต่อทีม หรือต่อองค์กร เช่น ถ้ามาประชุมสายครึ่งชั่วโมง เขาก็อาจบอกว่า “ฉันรู้ว่าฉันมาประชุมสาย แต่ระหว่างที่มานี้ ฉันได้คิดไอเดียเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ชิ้นหนึ่ง”
คนเบอร์ 8 – การปฏิเสธ (Denial)
การปฏิเสธเป็นกลไกป้องกันตัวจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกกังวล ด้วยการไม่ยอมรับว่าสิ่งนั้นมีอยู่ อาจเป็นความคิด ความรู้สึก ความปรารถนา ความรู้สึกทางร่างกาย ความต้องการ หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ ซึ่งคนเบอร์แปดไม่อาจยอมรับได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง การปฏิเสธนี้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การปฏิเสธข้อมูลหรือเรื่องราวทั้งหมดว่าไม่จริง อาจยอมรับบางสิ่งว่าจริง แต่ปฏิเสธหรือไม่ได้ให้ความสำคัญของสิ่งมากนัก หรือยอมรับทั้งเรื่องนั้นและความสำคัญของมัน แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบของตัวเองต่อสิ่งนั้น
ตัวอย่าง
คนเบอร์แปดอาจหักโหมทำงานติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 4 เดือน อาจกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่ได้ออกกำลังกายเลย แต่ก็ยังฝืนตัวเองจนหมดแรง แต่เขาก็ยังไม่ได้รับรู้ถึงสภาวะทางร่างกายของเขาจนถึงจุดที่เขาล้มป่วย เขาต้องการความเชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรเอาชนะเขาได้ จึงไม่ยอมรับรู้ข้อจำกัดของตัวเอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
คนเบอร์ 9 – การทำให้มึน (Narcotization)
คือ การทำให้ตัวเองไม่ต้องรับรู้ความรู้สึกใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอะไรบางอย่างที่ยุ่งยากซับซ้อน ภาระเกินตัว หรือไม่สบายใจที่จะรับมือ คนเบอร์นี้ทำตัวเองให้มึน และหันเหความสนใจของตัวเองไปทำสิ่งที่คุ้นเคย สบายใจ และไม่ต้องใช้สมาธินัก ตัวอย่างเช่น ล้างจาน ทำสวน อ่านหนังสือสนุกๆ หลายเล่มอย่างติดตาม ของนักเขียนคนเดียวกัน หรือหนังสือที่มีแนวเรื่องเหมือนเดิม ไปเดินเล่นหรือขี่จักรยาน คุยเรื่องสบายๆ บ่อยๆ นานๆ หรือดูทีวีแล้วเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ คนเบอร์นี้ทำสิ่งต่างๆ เป็นกิจวัตรประจำวันเพื่อจะได้ไม่ต้องตั้งสติให้มากนัก ถ้ามีอะไรมาขัดจังหวะการทำกิจกรรมเหล่านี้ เขาก็จะหงุดหงิด รำคาญ และไม่สบายใจ
ตัวอย่าง
คนเบอร์เก้าผู้หนึ่งมีงานเร่งด่วนที่มีความยุ่งยากซับซ้อนซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้ แต่แทนที่จดจ่อทำงานชิ้นนี้ เขากลับหันไปทำความสะอาดห้องทำงาน จัดเก็บเอกสารเข้าแฟ้ม โทรศัพท์ไปคุยในเรื่องที่ไม่เร่งด่วน และทำงานอื่นไม่ค่อยสำคัญไม่เกี่ยวกับงานตรงหน้า และยังไม่ต้องรีบส่ง
แม้ว่ากันชน หรือ กลไกการป้องกันตัวนี้ จะช่วยให้ชีวิตเรา”ดูเหมือน”ง่ายขึ้น จากการหลบเลี่ยงสิ่งที่ไม่พึงประสงค์โดยอัตโนมัติ แต่ผลที่ตามมาคือ มันกลับกล่อมให้คนแต่ละคนหลับไหล และไม่อาจสังเกตตัวเองได้ว่า จริงๆ แล้ว เราเป็นอย่างไรกันแน่? และการรับรู้โลกตามความเป็นจริงถูกบิดเบือนไปตามมุมมองของคนแต่ละเบอร์อย่างไร และนั่นเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งยวดในการเข้าถึงตัวตนเพื่อบรรลุถึงความสุขในจิตใจที่แท้จริง
Reference : ตัวอย่างการแสดงออกของ กลไกป้องกันตัว ข้างต้น มาจากหนังสือ “โค้ชชิ่ง ให้ถึงแก่น ด้วยเอ็นเนียแกรม”
ในหนังสือ มีคำอธิบายกลไกแต่ละชนิด โดยละเอียด และการตั้งคำถาม ในการโค้ชชิ่ง เพื่อให้ โค้ชชี่ ตระหนักรู้ถึงการใช้กลไก ฯ เหล่านี้
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง: รู้จักคนทั้ง 9 แบบในเอ็นเนียแกรม และตรวจสอบตนเองอย่างคร่าวๆ คลิ้กที่นี่
ที่มา : โค้ชชิ่งให้ถึงแก่น ด้วยเอ็นเนียแกรม แปลและเรียบเรียงโดย วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช