เลี้ยงลูกแบบไหน ถึงจะดีต่อพัฒนาการของเด็ก?
ในยุคโซเชียลนี้ คุณพ่อคุณแม่ได้หันมาใส่ใจพัฒนาการของลูกกันมากขึ้น แฟนเพจที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและวิธีการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ก็มีมากมายหลายแห่งให้คุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษาหาความรู้กัน
อย่างไรก็ตาม ทุกเทคนิคการเลี้ยงดูที่เป็นแบบแผนมาตรฐานนั้น จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่ ได้เข้าใจลักษณะทางจิตวิทยาบุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน และเข้าใจว่าสไตล์การเลี้ยงลูกของแต่ละท่านเข้ากันกับนิสัยของลูกๆ ได้ดีแค่ไหน
เอ็นเนียแกรม หรือ นพลักษณ์ เป็นความรู้บุคลิกภาพ ที่แบ่งคนออกเป็น 9 เบอร์ และอธิบายให้เรารู้ถึงลักษณะนิสัยของบุคลิกทั้ง 9 แบบ ที่มีอยู่ในตัวคนทุกคน และทำให้เกิด “แบบแผนเฉพาะตัว” ที่เรามักใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาวะตั้งใจทำบางสิ่งบางอย่าง หรือแม้แต่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานก็เช่นเดียวกัน
อันที่จริง ทั้ง 9 บุคลิกนี้ ไม่มีแบบไหนดีกว่าหรือด้อยกว่า ความแตกต่างที่มี คือแรงจูงใจใต้สำนึกลึก ๆ ที่เป็นสิ่งกำหนดมุมมอง ความคิด และการกระทำของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละแบบมีจุดที่ควรแก้ไขแตกต่างกันไป ซึ่งตรงนี้เองที่ ถ้าเราทำได้ ก็จะทำให้สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเราได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น มาลองดูฉายาพ่อแม่แต่ละสไตล์ และตัวอย่างการเลี้ยงลูกแบบชัดๆ กันเลยดีกว่าครับ
คนเบอร์ 1 พ่อแม่ นักจัดระเบียบ
คุณพ่อหรือคุณแม่สไตล์นักจัดระเบียบ มักใช้ระเบียบวินัย และกำหนดตารางเวลากิจกรรมให้กับเด็ก โดยคิดว่า เป็นการเน้นให้เด็กเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีจริยธรรม ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบ ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ทำงานนอกบ้าน ก็อาจรู้สึกกังวลใจที่ไม่สามารถให้เวลากับลูกตามที่กำหนดไว้ ซึ่งเกิดจากความกังวลว่า เด็กจะรู้สึกไม่ค่อยดี คุณพ่อคุณแม่สไตล์นี้ควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และพยายามเข้าใจว่า บางครั้ง เด็กก็ชอบอะไรที่แตกต่างไป และต้องการความยืดหยุ่นในแต่ละวันพอสมควร
คนที่ได้รับการเลี้ยงดูมาในสไตล์นี้ มักจะให้ความไว้วางใจในตัวผู้เลี้ยงดูอย่างมาก แต่ก็อาจคิดว่า ผู้ใหญ่นั้นมักชอบตำหนิ หรือเข้มงวดจนเกินไป
คุณพ่อหรือคุณแม่สไตล์นี้มักมีความสุขกับการอยู่กับลูก และมักให้ความรักและกำลังใจในเรื่องที่เด็กนั้นสนใจ ความผูกพันที่ให้กับเด็กอย่างมากนั้น บางครั้งทำให้พ่อแม่สไตล์ผู้ช่วยเหลือจะคอยทำสิ่งต่างๆ ให้เด็กมากเกินไป จนเด็กนั้นไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้จากการทำอะไรผิดพลาดบ้าง ผู้ใหญ่สไตล์นี้ยังรู้สึกอึดอัดที่จะบอกความรู้สึกแท้จริงของตน หรือพูดอะไรที่ดูเป็นไปในทางลบเกินไป ดังนั้น บ่อยครั้งจึงใช้วิธีอ้อม ๆ ในการให้เด็กทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่นั้นต้องการ
คนที่ได้รับการเลี้ยงดูมาในสไตล์นี้อาจรู้สึกซาบซึ้งกับความผูกพันและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตของตนเอง หรือไม่ก็อาจรู้สึกอึดอัดเหมือนชีวิตถูกครอบงำโดยผู้ใหญ่นั้น
คนเบอร์ 3 พ่อแม่ ผู้มุ่งความสำเร็จ
คุณพ่อหรือคุณแม่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นคนในสไตล์นี้ มักต้องการให้เด็กของตนมีคุณลักษณะของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือ มีความมั่นใจ มองโลกในแง่ดี กระฉับกระเฉง และมีแรงผลักดันในตัวเอง พ่อแม่แบบนี้คิดว่า ถ้าลูก ๆ ได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ หัวหน้าห้อง หรือประธานนักเรียนแล้ว ชีวิตก็จะอยู่ในสถานะที่ดีและมีความสุข อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนเกิดมาพร้อมกับบุคลิกภาพเฉพาะตัว ซึ่งก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างกันไป พ่อแม่ผู้มุ่งความสำเร็จควรมองหาพรสวรรค์และความสนใจที่แท้จริงที่มีอยู่ในตัวของลูก ซึ่งอาจแตกต่างจากสิ่งที่ตัวพ่อแม่นั้นมีอยู่ หรืออยากให้เป็น
คนที่มีธรรมชาติในตัวที่มุ่งสร้างความสำเร็จจะชื่นชมสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพ่อแม่สไตล์นี้ แต่บางคนจะรู้สึกว่า พ่อแม่ของตนคลั่งไคล้กับความสำเร็จ และคอยผลักดันตัวเองมากเกินไป และมักบ่นว่า พวกเขาไม่ได้ให้เวลากับตนมากเท่าที่ควร
คนเบอร์ 4 พ่อแม่ ผู้ละเอียดอ่อน
คุณพ่อหรือคุณแม่สไตล์นี้ จะมีความเข้าอกเข้าใจ ความอบอุ่น และความสร้างสรรค์มอบให้แก่เด็กอย่างมาก แต่ก็ต้องพยายามส่งเสริมเรื่องที่เด็กของตนมีความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่นั้นชอบหรือไม่ก็ตาม พ่อแม่สไตล์นี้อาจทำให้ลูก ๆ ที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในโลกที่รุ่มรวยทางอารมณ์ รู้สึกอึดอัดอย่างมาก ควรตระหนักว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนมากเท่าเรา
คนที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่สไตล์นี้มักพูดว่า คุณพ่อคุณแม่ของตนนั้นมีเสน่ห์และน่าหลงใหล แต่บางคนบอกว่า รู้สึกกลัวอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและความเศร้าในตัวของท่าน พ่อแม่สไตล์นี้มักกล่าวว่า รู้สึกเปี่ยมล้นไปด้วยความวิจิตรและสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้มีลูก แต่บางครั้งก็รู้สึกสมเพชหรือเศร้าอยู่แปลก ๆ
คนเบอร์ 5 พ่อแม่ นักสังเกตการณ์
เป็นเรื่องยากสำหรับคุณพ่อหรือคุณแม่นักสังเกตการณ์ที่จะละวางจากโปรเจ็ค หรือความคิดของตนเพื่อไปใช้เวลาอยู่กับเด็กได้ตลอดเวลา ในขณะที่กำลังคิดอะไรอยู่นั้น พ่อแม่สไตล์นี้จำเป็นต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ หรือใช้อำนาจกับลูกของตนจนเกินไป คนประเภทนักสังเกตการณ์นี้มักแบ่งสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตออกเป็นส่วน ๆ แยกจากกัน ดังนั้น จึงอาจรู้สึกสบายใจถ้ารู้จักแบ่งเวลาบางส่วนในแต่ละวันเพื่อที่จะอยู่กับเด็กอย่างเต็มที่ในช่วงนั้น
คนที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่สไตล์นี้บางครั้งกล่าวว่า รู้สึกไม่ดีกับความห่างเหินของพ่อแม่ แต่ก็ชอบอารมณ์ขันแบบแปลก ๆ ของท่าน พ่อแม่ประเภทนี้บางครั้งกล่าวว่า พวกเขาให้ความสนใจกับลูกมากขึ้น เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทีน (10ปี) เพราะสามารถคุยกันในเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น
คุณพ่อหรือคุณแม่แบบนี้มักจริงใจและหวังดีอย่างมาก จนบางครั้งอาจปกป้องลูกของตนจนเกินไป พ่อแม่สไตล์นี้ไม่ค่อยกล้าปล่อยให้ลูกออกสู่โลกกว้างเพราะกลัวอันตราย โดยลืมไปว่า เด็กจะเอาตัวรอดได้ดีกว่าถ้าพวกเขาได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาของตัวเอง พ่อแม่สไตล์นักปุจฉาต้องคอยสำรวจดูความโน้มเอียงของตนเองที่ชอบคิดโต้แย้งตลอดเวลา เพราะสิ่งนี้จะบั่นทอนความมั่นใจของเด็ก นอกจากนี้ ยังต้องระวังในเรื่องการพูดเสียดสี และการหยอกล้อแหย่เล่นเช่นกัน
คนที่มีพ่อหรือแม่สไตล์นักซักถาม ที่มี “กังวลแล้วเป็นห่วง” จะบอกว่า ความกระวนกระวายใจของท่าน ทำให้ตัวลูกรู้สึกประสาทเสีย ส่วนคนที่มีพ่อแม่สไตล์นี้ที่ “กังวลแล้วดุ” มักคิดว่า ถูกเคี่ยวเข็ญและคาดหวังหนักเกินไป แต่ทั้งสองลักษณะนี้ ก็เป็นพ่อแม่ที่อุทิศตัวให้กับลูก ๆ อย่างมาก
คุณพ่อหรือคุณแม่สไตล์นี้ชอบเด็กที่ร่าเริงและขี้เล่น แต่ถ้ามีลูกที่เป็นเด็กเคร่งเครียด ขี้กังวล หรือกร้าวร้าว พ่อแม่นักผจญภัยนี้ก็จะต้องปรับตัวอย่างมาก เคยมีตัวอย่างของคุณแม่นักผจญภัยท่านหนึ่ง ซึ่งพาคุณลูกสไตล์ผู้ปกป้องที่ยังเตาะแตะไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วหนูน้อยคนนั้นมีปัญหาในการปรับตัวอย่างมาก คุณแม่กับคุณพ่อเลยต้องตัดสินใจที่จะพักอยู่ในที่เดียวตลอดระยะเวลาครึ่งหลังของการเดินทางครั้งนั้น ถ้าพ่อแม่สไตล์นี้รู้สึกว่าเด็กทำให้ตนไปไหนไม่ได้ ก็จะคิดหาเรื่องสนใจใหม่ ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านแม้จะถูกรบกวนอยู่บ้าง
คนที่มีพ่อแม่นักผจญภัยบางครั้งจะรู้สึกสับสนเพราะไม่รู้ว่า ท่านจะกลับถึงบ้านในเวลาดึกดื่นเพียงใด แต่เขาก็ชอบฟังเรื่องราวรวมทั้งเรื่องตลกที่ท่านเล่า แต่บางคนก็บ่นว่า คุณพ่อคุณแม่นั้นเรียกร้องความสนใจจากลูกมากเกินไป หรืออาจไม่รับฟังคนอื่นเลย
คุณพ่อหรือคุณแม่สไตล์นี้คอยปกป้องลูก เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความมั่นใจในตนเองและการกล้าลงมือทำ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือ เรื่องความโกรธของตน ที่จะมีผลเสียอย่างมากต่อลูก และต้องพยายามที่จะไม่ยัดเยียดสิ่งต่าง ๆ ให้กับลูกตามความต้องการของตนเอง พ่อแม่ลักษณะนี้อาจรู้สึกลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับลูก และก็ไม่ค่อยได้รับรู้ความแตกต่างระหว่างตนเองกับลูก คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกป้องนี้จะต้องมองว่า เด็กนั้นก็มีคุณลักษณะอื่น ๆ ในตัวที่เป็นข้อดี เช่น การรู้จักที่จะประนีประนอม หรือการแสดงออกถึงความอ่อนโยน
คนที่มีพ่อแม่สไตล์นี้จะมีวิธีการตอบสนองแตกต่างกันไปตามบุคลิกของตน ตัวอย่างเช่น ลูกสาวสไตล์นักผจญภัยผู้หนึ่งที่รู้สึกผูกพันอย่างมากกับคุณพ่อผู้ปกป้อง คุณพ่อท่านนี้ชอบแสดงความกล้าให้ลูกคนนี้ดู เขาชอบเล่นกับเธอและสอนเธอร้องเพลงตั้งแต่ยังเป็นเด็น ในเวลาต่อมา ก็ได้ส่งเสริมให้เธอก้าวเข้าสู่อาชีพนักร้องและนักแสดง
คนเบอร์ 9 พ่อแม่ นักประสานไมตรี
คนในสไตล์ผู้ประสานไมตรีจำนวนมาก มีความสามารถพิเศษที่จะรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของเด็ก และสามารถเข้าใจและให้ความอบอุ่นอย่างมากแก่เด็ก คุณพ่อคุณแม่สไตล์นี้อาจจำเป็นที่จะต้องกล่าวปฏิเสธเด็กบ้าง และต้องไม่ตามใจเด็กจนเกินไป แทนที่จะคอยต่อรองกับลูก ก็ควรต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนและรักษาอำนาจของตน
คนที่มีพ่อแม่สไตล์นี้มักพูดบ่อยๆ ว่า เขาเข้ากับพ่อแม่ได้อย่างประสานกลมกลืนกัน และรู้สึกมั่นคง และก็รู้สึกไม่อยากแยกจากท่านจนบางครั้งก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ลูก ๆ ของคนสไตล์นักไกล่เกลี่ยมักซาบซึ้งที่พ่อแม่ให้ความเป็นอิสระและเปิดใจกว้างกับกิจกรรมหรือเรื่องต่างๆ ที่ตนสนใจ
เป็นอย่างไรบ้างครับ คุณผู้อ่านพอจะมองบุคลิกตามเอ็นเนียแกรมของคุณจากสไตล์การเลี้ยงเด็กออกไหม? ผมเชื่อว่า คุณที่มีความเข้าใจและสังเกตตัวเองได้ดีพอสมควร ก็จะพอมองเห็นได้ไม่ยาก และพอเข้าใจที่มาที่ไปของสไตล์การเลี้ยงลูกของคุณพ่อคุณแม่แต่ละท่านแล้ว ส่วนคำตอบของคำถามข้างต้นที่ว่า สไตล์การเลี้ยงดูแบบไหน ที่จะทำให้ลูกเกิดพัฒนาการดีที่สุด คำคอบคงจะกระจ่างแจ้งในใจแล้วว่า คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องดูธรรมชาติของเขา และวิธีการของตัวเราด้วย ประกอบกันไปนั่นเองครับ
เรียบเรียงจาก “เกิดมาต่างกัน เลี้ยงดูฉันอย่างเข้าใจ”
เขียน Elizabeth Wagele
แปล วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช