ท่านที่เข้าสัมมนาเอ็นเนียแกรมกับผม จะรู้ดีว่า
ทำไมเอ็นเนียแกรมจึงไม่ใช่ความรู้ที่เรียนกันจบ ในการสัมมนาเพียงครั้งเดียว
เพราะการค้นหาเบอร์เอ็นเนียแกรมของตน
เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการใช้เอ็นเนียแกรมจริงๆ
หลังจากที่คุณรู้จักตัวเองและเข้าใจว่าเป็นคนเบอร์ไหนแล้ว
คุณกำลัง ยืนอยู่บนทางแยก ระหว่าง
การหยุดการเรียนรู้เอ็นเนียแกรมที่ตรงนั้น
แล้วกลับไปใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิมอย่างที่เคยทำมา
หรือ เลือกที่จะเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางของการพัฒนาตนเองให้สู่ระดับสูงสุดของคนแต่ละเบอร์
ดอน ริชาร์ด ริโซ ปรมาจารย์เอ็นเนียแกรมท่านหนึ่ง
ได้แบ่งระดับการพัฒนาดังกล่าวไว้ 9 ขั้น
โดยที่ขั้นสูงสุดคือ ขั้นที่ 1 เป็นสภาวะที่เรามีอิสรภาพจากตัวตนตามเบอร์
เป็นขั้นที่ตรงกับที่ทางธรรม ที่เรียกว่า ละวางอัตตา (จากเบอร์ของตน) ได้แล้ว
สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ได้ถึง การเข้าถึงขั้นนี้คือ
“การแสดงออกอย่างสมดุล (Balance)”
ดร. จินเจอร์ ลาพิด บ็อกดา ผู้เขียนหนังสือ เอ็นเนียแกรม ที่แปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว 3 เล่ม
เขียนบล็อกชิ้นหนึ่ง* ให้ภาพที่ชัดเจนว่า
หากมีการพัฒนาตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว สภาพสมดุลคนแต่ละเบอร์จะมีลักษณะดังนี้
คนเบอร์ 1 ทำงานจริงจัง – สนุกสนาน (work and play)
คนเบอร์หนึ่งขยันทำงานมาก จนบางคนมากเกินไปด้วย
เขาแยกเรื่องงานออกจากเรื่องเล่นโดยเด็ดขาด การเพิ่มเติมความสนุกสนานเข้าไปในการทำงานด้วย
จะทำให้มีสมดุลในตัวยิ่งขึ้น
คนเบอร์ 2 ตัวเอง – ผู้อื่น (self and others)
คนเบอร์สองมักโฟกัสที่ผู้อื่นมากกว่าตัวเอง
เว้นแต่ตอนที่กำลังทุกข์สุดๆ ถึงค่อยไปสนใจตัวเอง
การโฟกัสที่ตัวเองในแต่ละวันจะทำให้เกิดสมดุลในชีวิตมากยิ่งขึ้น
คนเบอร์ 3 ความรู้สึก – การกระทำ (feeling and doing)
คนเป็นสามเน้นการลงมือทำ ซึ่งอาจเป็นจุดแข็ง แต่ต้องไม่ถึงกับส่งผลเสียกับศูนย์ใจ
ลองตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองวันละ 3 ครั้ง
โดยหยุดทำอะไรแล้วถามตัวเองว่า “ตอนนี้ฉันรู้สึกอย่างไร” และห้ามตอบว่า “ไม่รู้”
คนเบอร์ 4 ความรู้สึก – การไม่ใช้ความรู้สึก (feeling and objectivity)
คนเบอร์สี่ นับว่าเป็นสุดยอดในการสำรวจความรู้สึกคน
แต่ถ้าขาดสมดุลโดยการใช้ความเป็นกลาง (objectivity)
ความรู้สึกต่างๆ ก็อาจพวยพุ่ง จนบดบังความชัดเจนในการมองสิ่งต่างๆ
จงหาความสมดุลระหว่างหัวใจกับความคิด
คนเบอร์ 5 หัว-ใจ-กาย (head, heart, and body)
คนเบอร์ห้า ให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้หัวคิด
จน ใจ และ กาย ถูกทิ้งไว้ห่างๆ จนอาจไม่รู้เลยว่ามีอยู่ด้วย
จงหาความสมดุลระหว่างศูนย์ทั้งสามนี้
คนเบอร์ 6 ความไว้วางใจในตัวเอง – ในผู้อื่น (trust in self and trust in others)
คนเบอร์หก เดี๋ยวก็ไม่ไว้ใจตัวเอง เดี๋ยวก็ไม่ไว้ใจคนอื่น
บางทีก็เชื่อมั่นในตัวเอง และไม่ไว้ใจคนอื่น
บางทีก็ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แต่เชื่อมั่นในคนอื่น เขาจึงรู้สึกสับสนอย่างยิ่ง
จงเรียนรู้ที่จะไว้วางใจในตัวเอง และผู้อื่นในเรื่องที่ไว้ใจได้จริงๆ
หาความสมดุลในเรื่องนี้ และทำใจว่า สมดุลนี้อาจเอียงไปเอียงมาบ้าง
คนเบอร์ 7 ความสุข – ความเศร้า (joy and sorrow)
คนเบอร์เจ็ดแสวงหาความสุข สนุกสนาน
และหลีกเลี่ยงเรื่องไม่สบายใจและทำให้เสียใจ
เมื่อคุณพบความสมดุลระหว่างการแสวงหา
และเปิดรับต่อทั้ง 2 ด้านนี้ โดยไม่ยึดติดกับด้านใดด้านหนึ่ง
คุณจะค้นพบความสุขที่บริสุทธิ์และความรู้สึกที่เต็มเติมยิ่งขึ้นได้ไม่ยาก
คนเบอร์ 8 ความเข้มแข็ง – ความเปราะบาง (strength and vulnerability)
คนเบอร์แปดเชื่อว่า การเปิดเผยความเปราะบางคือความอ่อนแอ
แต่ที่จริงแล้ว เป็นความเข้มแข็งชนิดหนึ่งมากกว่า
หากได้เข้าไปสัมผัส สำรวจ ก็จะเข้าถึงความเข้มแข็งภายในที่มากและลึกซึ้งกว่า
นั่นคือ การเปิดรับต่อสิ่งต่างๆ
คนเบอร์ 9 ความถ่อมตัว – ความก้าวร้าว (humility and aggression)
คนเบอร์เก้า มักมองตัวและถูกมองว่าเป็นคนถ่อมตัว ไม่ก้าวร้าว
แต่หากมองลึกลงไปจะพบความก้าวร้าวที่แฝงตัวอยู่ในก้นบึ้ง
บางครั้ง ความถ่อมตัวนี้อาจไม่ใช่ของจริง
แต่เป็นเพียงหน้ากากปกปิดความรู้สึกว่า ตนเหนือกว่า
จงเปิดรับความปรารถนาที่จะแสดงออกของตัวเอง
และแสดงให้คนเห็น ด้วยการหาสมดุลระหว่าง ความถ่อมตัวและความก้าวร้าว นั้นให้ได้
กลับมาตรงทางแยกที่ผมเกริ่นไว้ช่วงต้นของบทความ
หากผู้อ่านเคยเข้าสัมมนาเอ็นเนียแกรม หรือ รู้เบอร์เอ็นเนียแกรมตนเองแล้ว
ลองหยุดครุ่นคิดและพิจารณาสักครู่ว่า
หากสามารถทำให้การใช้ชีวิตประจำวันสมดุลได้ จะเป็นประโยชน์กับคุณกว่าเดิมไหม?
สิ่งใดในชีวิตคุณจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ในทิศทางใด? แล้วมันจะทำให้คุณพบความสุขในชีวิตมากกว่าเดิมหรือเปล่า?
หลังจากนั้น หากจะเลือกเดินหน้าไปยังเส้นทางใด
ก็เป็นสิทธิ์ของผู้อ่านโดยสมบูรณ์ครับ
นอกจากการพัฒนาตนเองแล้ว ผมมักพูดไว้บ่อยๆ ว่า เอ็นเนียแกรม เป็นพื้นฐานที่สามารถใช้ประยุกต์ใช้ได้กับโมเดล แนวคิด ฯลฯ ต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพราะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ สังคม ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนแทบทั้งสิ้น
ในระดับองค์กรก็เช่นกัน หากองค์กรของคุณ มีโมเดลการบริหารงาน การสร้างทีม ฯลฯ ซึ่งคุณคิดว่า สำคัญต่อองค์กรของคุณจริงๆ
และอยากผลักดันให้เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้บริหารและพนักงาน โทรมาปรึกษาเราได้ครับ ด้วยความยินดี
รู้จัก คน 9 ไทป์ ในเอ็นเนียแกรม อ่านที่นี่
Reference: * “http://theenneagraminbusiness.com/development/development-balance/”
สรุปและเรียบเรียงโดย : วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช