พนักงานในองค์กรจำนวนมากบอกว่า รู้สึกหัวหน้าไม่ค่อยไว้ใจพวกเขา ซึ่งผลเสียที่ตามมาคือ ผลงานตกต่ำลง และรู้สึกไม่ค่อยผูกพันกับองค์กร หัวหน้างานจึงต้องแสดงออกถึงความไว้วางใจในตัวลูกน้อง ให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ
ผลการศึกษากับองค์กรหลายแห่งในระยะเวลามากกว่า 10 ปี พบว่า
พนักงานที่รู้สึกไม่ได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้า จะทุ่มเทน้อยลง ผลงานตกต่ำลง และมีความเป็นไปได้ที่จะลาออกมากขึ้น
ส่วนพนักงานที่รู้สึกหัวหน้าไว้วางใจ จะมีผลงานที่ดีกว่า ทุ่มเทกับงานมากขึ้นจนทำได้เกินความคาดหวัง นอกจากนี้ ยังมีความมั่นใจในตัวองค์กรมากขึ้นด้วย
สรุปได้ว่า เมื่อคนเรารู้สึกได้รับความไว้วางจากใคร ก็จะส่งมอบความไว้วางใจกลับไป หัวหน้างานไม่เพียงแค่ต้องไว้วางใจลูกน้องเท่านั้น แต่ต้องแสดงให้พวกเขาเห็นด้วย
จากผลการวิจัย เราได้พบ สิ่งบั่นทอนความไว้วางใจของลูกน้องมากที่สุด ดังต่อไปนี้
สิ่งบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกน้อง
ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันเกิดจากการทบทวนตัวเอง และการกล้าเสี่ยงอยู่บ้าง มีอย่างน้อย 3 สาเหตุที่ทำให้หัวหน้า ไม่ได้แสดงออกถึงความไว้วางใจในตัวลูกน้อง
1. ขาดการตระหนักรู้ตัว
หัวหน้ามักไม่รู้ตัวว่า ตัวเองไม่ได้ทำให้ลูกน้องรับรู้ถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ คนเป็นหัวหน้ามักคิดว่า ลูกน้องน่าจะรู้ว่า เขาไว้วางใจในตัวลูกน้องอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้น การกระทำด้วยเจตนาที่ดีบางอย่าง เช่น การคอยช่วยเหลือ หรือสอบถามถึงความคืบหน้าของงานเป็นระยะ อาจทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า หัวหน้าไม่ไว้วางใจว่า พวกเขาจะทำงานให้เสร็จตามลำพังได้
2 การไม่กล้าเสี่ยง
องค์กรต่างๆ มักมีโครงสร้าง นโยบาย และวัฒนธรรมที่มุ่งลดความเสี่ยง และเน้นประสิทธิภาพ แต่สิ่งเหล่านี้อาจทำให้พนักงานรู้สึกว่า องค์กรไม่ไว้ใจตนให้ใช้ทรัพยากรและข้อมูลต่างๆ อำนาจที่รวมศูนย์อยู่ข้างบน ข้อจำกัดในการใช้ทรัพยากรและข้อมูล และกฎระเบียบหลากหลายขั้นตอน เป็นสิ่งจำกัดความคิดริเริ่มของพนักงาน หัวหน้าอาจสนับสนุนให้ลูกน้องมีความคิดริเริ่ม แต่ในองค์กรที่เน้นการลดความเสี่ยง ไอเดียเหล่านั้นมักไม่ค่อยได้เกิด บริษัทแห่งหนึ่งที่เราเป็นที่ปรึกษาให้พยายามบ่มเพาะนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ แต่ขั้นตอนการอนุมัติโปรเจ็คใหม่ๆ ต้องใช้เวลาถึง 12 เดือนกว่าที่ผู้บริหารระดับสูงจะอนุมัติ พนักงานหลายคนก็เข้าไม่ถึงกระบวนการอนุมัติ ทำให้ยากที่จะเกิดนวัตธรรมใหม่ๆ และส่งผลให้พวกเรารู้สึกไม่เป็นที่ไว้วางใจ และแม้ว่า ความผิดจะอยู่ที่นโยบายของบริษัท แต่พนักงานก็อาจโทษหัวหน้าของตน จึงส่งผลเสียต่อความไว้วางใจของพวกเขา
3. การยึดผลลัพธ์เป็นหลัก
บางครั้งแรงกดดันให้บรรลุเป้าหมาย และการควบคุมต้นทุนทำให้หัวหน้าทำสิ่งต่างๆ ซึ่งส่งผลให้พนักงานรู้สึกไม่ได้รับความไว้วางใจโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อมีแรงกดดันมาก หัวหน้าหลายคนจะโฟกัสที่ความมั่นคงในงานของตัวเอง และยิ่งทำการควบคุมลูกน้อง สิ่งนี้อาจก่อให้เกิดวิธีคิดที่เน้นการบรรลุผลลัพธ์สุดท้ายเท่านั้น ซึ่งมักส่งผลเสียต่อเรื่องสำคัญอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน และการให้อำนาจกับพนักงานในการตัดสินใจ
หัวหน้าอาจสื่อสารความไว้วางใจได้โดยทำสิ่งต่อไปนี้
สำรวจข้อเท็จจริง
ขั้นแรก อย่าคิดเองว่า ลูกน้องมีความไว้วางใจในตัวคุณ จงฝึกดูระดับความไว้วางใจของพวกเขาโดยทำความเข้าใจถึง ความเสี่ยงและความอ่อนไหวที่เขาเผชิญอยู่ สำรวจระเบียบข้อบังคับ และนโยบายในองค์กรดูว่า มีความยืดหยุ่นต่อเรื่องความเสี่ยงบ้างหรือไม่ เมื่อคุณมองสิ่งเหล่านี้จากสายตาของพนักงาน ให้ถามตัวเองว่า มันช่วยให้พนักงานรู้สึกกระตือรือร้น หรือมันกีดกั้นพนักงานออกจากองค์กร
จงประเมินตัวคุณเองด้วย เริ่มด้วยการตอบคำถามต่อไปนี้ ถ้าคุณตอบว่า “ไม่” ในข้อใดข้อหนึ่ง ลูกน้องของคุณก็อาจไม่ได้ไว้วางใจคุณมากเท่าที่ควร
- ฉันได้แสดงให้ลูกน้องเห็นหรือไม่ว่า ฉันรู้สึกมั่นใจในความสามารถของพวกเขา
- ฉันได้แสดงให้ลูกน้องเห็นหรือไม่ว่า ฉันใส่ใจในความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา
- ฉันได้แสดงให้ลูกน้องเห็นหรือไม่ว่า ฉันคิดว่า พวกเขาสามารถทำงานได้
- ฉันได้ให้อำนาจกับลูกน้องในเรื่องที่มีผลกระทบต่อการทำงานของเขาหรือไม่
- ฉันได้ให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องงาน ที่มีผลกระทบต่อพวกเขาหรือไม่
- ฉันได้สนับสนุนในลูกน้องกล้าเสี่ยงหรือไม่
- คำพูดและการกระทำของฉันบ่งบอกถึงความไว้วางใจในตัวพวกเขาหรือไม่
ผ่อนคลายการควบคุม (อย่างระมัดระวัง)
ความรับผิดชอบในการสร้างความไว้วางใจตกอยู่ที่หัวหน้า หัวหน้าจึงไม่เพียงแค่ต้องบ่มเพาะให้ลูกน้องเกิดความไว้วางใจในตัวเขาเท่านั้น แต่ตัวเองต้องทำให้พวกเขาเห็นถึงความไว้วางใจต่อพวกเขาที่เพิ่มมากขึ้นด้วย หัวหน้าต้องมอบหมายงาน ให้ทรัพยากร และไม่ทำอะไรที่ส่งผลเสีย การผ่อนคลายการควบคุมยังต้องอาศัยความอดทนตอความผิดพลาดด้วย คือ แทนที่จะตำหนิหรือใช้มาตรการแก้ไขความผิดพลาดอย่างรุนแรง จงทำให้มันเป็นโอกาสของการเรียนรู้
แบ่งปันข้อมูล
อีกหนึ่งวิธีการสำคัญคือ สื่อสารกับพนักงานอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมา หัวหน้ามักรู้สึกไม่อยากบอกข้อมูล หรืออธิบายเหตุผลของการตัดสินใจ เพราะกลัวว่าข้อมูลจะรั่วไหล เกิดการคาดเดาผิดๆ หรือสร้างความไม่พอใจ การมีความโปร่งใสจะส่งสัญญาณว่าคุณไว้ใจพนักงานด้วยการมอบความจริง แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น
บริษัทแห่งหนึ่งเริ่มการเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่จากผู้บริหารระดับกลางเพื่ออนุมัติการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการเล็กๆ ภายในวันหรือสองวัน การเพิ่มการอำนาจให้เช่นนี้ เป็นการบอกให้พนักงานในระดับต่างๆ รู้ว่าบริษัทไว้วางใจพวกเขา เวลาสั้นๆ ที่ใช้ในการพิจารณาบ่งบอกว่า ผู้บริหารยินดีที่จะทดลองและเรียนรู้จากความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น พูดสั้นๆ บริษัทยินทีที่จะเสี่ยงไปกับพนักงาน
ลงทุนในการพัฒนาพนักงาน
สิ่งสุดท้ายคือ ให้พนักงานได้รู้ว่า คุณยินดีที่จะลงทุนในศักยภาพของพวกเขา ซึ่งเป็นการบอกถึงความมั่นใจและไว้วางใจ สำรวจว่าเขามีแรงบันดาลใจในอาชีพอย่างไร แล้วช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย อย่าลืมว่า ในฐานะผู้จัดการ ความสำเร็จของคุณขึ้นอยู่กับความสำเร็จของลูกน้องที่คุณจะพัฒนาขึ้นมา
หัวหน้าอาจไม่ได้ตระหนักถึงสัญญาณเกี่ยวกับความไว้วางใจในตัวลูกน้อง ที่สื่อออกไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความไว้วางใจต่อกัน คุณจำเป็นต้องฝึกอ่านใจพนักงานในเรื่องความไว้วางใจกัน และใส่ใจที่จะส่งสัญญาณแห่งความมั่นใจและไว้วางใจในพนักงาน
ที่มา : HBR, July 05, 2017, “Want Your Employees to Trust You? Show You Trust Them
แปลและเรียบเรียนโดย
อ. วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช (CPA, MBA, MA)
- MD บ. สยามเอ็นเนียแกรม คอลซัลติ้ง จำกัด
- Certified Enneagram Trainer, Accredited Enneagram Teacher (IEA)
- Certified MBTI Practitioner
- ประสบการณ์ในบริษัทต่างๆ 20 ปี
(ตำแหน่งสุดท้าย Finance & HR Director – Bisnews AFE) - นำการสัมมนาหลักสูตร เอ็นเนียแกรม ให้กับองค์กรต่างๆ มากกว่า 600 รุ่น
- แปลหนังสือเอ็นเนียแกรม และอื่นๆ รวม 14 เล่ม
One thought on “อยากให้ลูกน้องไว้วางใจ ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า คุณไว้วางใจเขาก่อน”