ขึ้นต้น บทความด้วยคำถามนี้ ไม่ได้เพื่อชวนทะเลาะตั้งแต่ต้นปีแต่อย่างใดครับ เพียงแต่อยากให้ผู้อ่านที่อยู่ในวงการพัฒนาบุคลากรโดยตรง และผู้บริหารที่มีบทบาทเกี่ยวข้องได้ฉุกคิด ถึงความจริงที่ว่า…เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาพนักงานไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้ นั่นคือ การขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องคนอย่างแท้จริง ลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้ครับว่า
- คุณมีความรู้ความเข้าใจเรื่องคน ดีแค่ไหน?
- ถ้าคะแนนเต็มสิบ คุณให้คะแนนตัวเองเท่าไร?
หรือเอาง่ายๆ ก็ลองนึกถึง “ตัวคุณเอง” ก็ได้ ถ้ายังรู้สึกว่า ไม่ค่อยเข้าใจตัวเอง ทั้งๆ ที่ตั้งแต่อยู่ใกล้ชิดและรู้จักดีตั้งแต่เกิดแล้วละก็ คุณคิดว่าจะเข้าใจคนอื่นอย่างถูกต้องได้อย่างไร
แต่ถ้าคุณบอกว่าเข้าใจตัวเองดีแล้ว ลองถามตัวเองอีกสักคำถามนะครับว่า แล้วคนอื่นเข้าใจ หรือรู้จักคุณอย่างที่ตัวคุณเองเข้าใจหรือไม่
ปกติแล้วใน workshop ผมมักใช้กิจกรรมอุ่นเครื่องด้วยการให้ผู้เข้าสัมมนาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันคืออะไร..?.” โดยแนะให้พวกเขานึกถึงชีวิตตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก่อนที่แต่ละคนจะลงมือเขียนอุปมาอุปไมยว่าตัวเองคือ อะไร หรือ สิ่งใด อย่างอิสระ
แทบทุกครั้ง เมื่อจบคำแนะนำ หลายคนจะพูดติดตลกทันทีว่า “โห ให้อธิบายว่าคนอื่นเหมือนอะไรยังง่ายกว่านะครับ อาจารย์” แต่หลังจากครุ่นคิดสักครู่ แต่ละคนก็เขียนบรรยายได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ส่วนใครจะเขียนตรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า เขารู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหนแล้วครับ
เมื่อถึงเวลานำเสนอ ผู้สัมมนาส่วนใหญ่ มักเปรียบเปรยถึงตัวเองเป็นสิ่งทั่วๆ ไปอย่างเช่น
“ต้นไม้” ซึ่งแทนความหมายการเป็นที่พึ่งพิง
“ทะเล” แทนอารมณ์ที่แปรปรวน สงบบ้าง ปั่นป่วนบ้าง
“นก” ที่โบยบินอย่างอิสรเสรีบนฟากฟ้า
จะมีบ้างที่เป็นตัวอย่างพิสดาร เช่น การเปรียบตัวเองเป็นอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกจนเรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อน ๆ ในห้องดังสนั่นหวั่นไหวกันเลย
แต่ที่ผมประทับใจมากๆ กลับเป็นตัวอย่างจากผู้สัมมนาชายท่านหนึ่งที่เปรียบตัวเองเป็นเหมือน “ตุ่มน้ำที่มีรูรั่ว”
แค่คำเปรียบเทียบสั้นๆ ก็น่าสนใจแล้ว แต่คำบรรยายของเขากลับสร้างความน่าทึ่งยิ่งกว่า เมื่อเขาบอกว่า “เมื่อมีรูรั่วก็ต้องยิ่งพยายามเทน้ำใส่ตุ่มให้รวดเร็วและมากกว่าน้ำที่ไหลออกจากรู”
ผมเห็นได้ว่าคำตอบของเขาได้สะท้อนความคิด ความรู้สึก และการกระทำซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเขาได้ชัดเจน และเชื่อไหมครับว่า แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
ในอีกกิจกรรมหนึ่งที่ง่ายกว่านั้น ผมได้ขอให้ผู้สัมมนาเขียนจุดแข็ง-จุดอ่อน ของตัวเองอย่างละ 3 ข้อ คราวนี้ คำตอบที่พบบ่อย คือ ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความซื่อสัตย์ ปรับตัวเก่ง ขี้เกรงใจ ก้าวร้าว ขี้กังวล
เมื่อถามต่อว่า แล้วทำไมจึงเป็นคนเช่นนั้นล่ะ? ส่วนมากมักจะอึ้ง ตอบกันไม่ค่อยได้ในทันที จนต้องให้เวลาคิดสักพัก บางคนถึงจะพอพูดถึงเงื่อนไขแวดล้อม ประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือ ลักษณะงานที่ทำมา ว่าเป็นตัวหล่อหลอมนิสัย
ของเขา เช่น คุณพ่อเป็นทหาร จึงเข้มงวด และทำให้เขาเป็นคนเจ้าระเบียบมาก หรือ บางคนเป็นลูกคนกลางเลยเข้าตำรา Wednesday Child ทำให้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จึงไม่กล้าแสดงออก หรือ บางคนทำงานเกี่ยวกับการเงินทำให้ต้องรอบคอบจนกลายเป็นคนขี้กังวล
มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
ผมมักจะถามต่อว่า แล้วพี่น้องในบ้านเจ้าระเบียบทุกคนหรือเปล่า ลูกคนกลางทุกคนไม่กล้าแสดงออกใช่ไหม หรือ คนทำงานเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ก็ขี้กังวลทุกคนสิ ฯลฯ
พอเห็นภาพไหมครับ ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว เรื่องคนมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด จนหลายคนไม่อาจตอบที่มาที่ไปของนิสัยตัวเองได้อย่างชัดเจน
แล้วทำอย่างไรล่ะจึงจะรู้ และเข้าใจคนได้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง จนสามารถพัฒนาตัวเอง หรือบุคลากรได้อย่างถูกทิศทางมากขึ้น
ผมได้รู้จักแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “เอ็นเนียแกรม” หรือ ที่ทุกท่านอาจคุ้นในชื่อภาษาไทยว่า “นพลักษณ์” เป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 2548 และได้ศึกษาค้นคว้าประยุกต์ใช้และเผยแพร่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนเชื่อมั่นได้ว่า เอ็นเนียแกรมเป็นทั้งองค์ความรู้และเครื่องมือที่สามารถอธิบายได้ถึงต้นตอของ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ซึ่งได้แก่ แรงจูงใจลึกๆ ความคิดความเชื่อ วิธีมองโลก และการปรุงแต่งจิต ฯลฯ ที่เรามีอยู่ อย่างไม่รู้ตัว ได้อย่างแท้จริง เช่น
ลูกน้องที่ไม่ยอมใครง่ายๆ แม้แต่หัวหน้า หรือ ลูกค้าเป็นเพราะอะไร?
หัวหน้าที่คอยแต่จับผิด และตำหนิติเตียนลูกน้อง ทำไปทำไม?
แม้แต่ ตัวเราเองที่อาจเกรงใจคนอื่นมากจนเกินไปนั้น ลึกๆ แล้วต้องการอะไร ? เอ็นเนียแกรม หรือ นพลักษณ์ สามารถตอบคำถามเหล่านี้ แทบทั้งสิ้น แล้วตอนหน้า เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า เราสามารถนำเอ็นเนียแกรมไปใช้ใน ”การพัฒนาคน” ด้านใดได้บ้าง